แวดวงการศึกษาอวกาศในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองไม่ว่าจะเป็นภารกิจลูนา-25 (Luna-25) ของรัสเซียที่มุ่งหน้าไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์แต่ประสบความล้มเหลว หรือภารกิจจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ของอินเดียที่กำลังเคาต์ดาวน์นับถอยหลังความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์
จุดร่วมในภารกิจของทั้งสองประเทศ คือจุดหมายปลายทางการสำรวจซึ่งอยู่ที่ “ขั้วใต้ของดวงจันทร์” ยังไม่นับว่า มหาอำนาจด้านอวกาศอย่างสหรัฐฯ และจีนเอง ก็มีแผนส่งยานไปขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ ขั้วใต้ของดวงจันทร์มีอะไร? ทำไมทุกประเทศถึงต้องส่งยานไปสำรวจที่นั่น คำตอบคือ ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ดูเหมือนจะมีหนึ่งใน “ทรัพยากรที่มีค่าที่สุด” อยู่ นั่นคือ “น้ำ”
น้ำ เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เราใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และหากขาดน้ำดื่มไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด โดยเฉพาะในอวกาศอันไกลโพ้นที่การหาแหล่งน้ำเป็นเรื่องยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
นอกจากนี้ น้ำยังเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ การขุดค้นแร่บนดวงจันทร์ รวมถึงการตั้งฐานหรือจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคาร
หากถามว่า มีน้ำอยู่บนดวงจันทร์จริงหรือ? ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ก่อนที่ยานอะพอลโลจะลงจอดครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อาจมีน้ำอยู่บนดวงจันทร์ แต่ตัวอย่างที่ทีมงานอะพอลโลนำกลับมาวิเคราะห์ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 กลับดูเหมือนว่าดวงจันทร์จะ “แห้งสนิท”
กระทั่งในปี 2008 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้กลับมาศึกษาตัวอย่างดวงจันทร์เหล่านั้นอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีใหม่ และพบ “ไฮโดรเจน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O) ใน “เม็ดแก้ว” (Glass Bead) เล็ก ๆ
ต่อมาในปี 2009 เครื่องมือของนาซาบนยานสำรวจจันทรายาน-1 ขององค์กรวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ตรวจพบน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ ในปีเดียวกันนี้ ยานสำรวจอีกลำของนาซาที่พุ่งชนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ก็พบน้ำแข็งใต้พื้นผิวดวงจันทร์ด้วย
การพบไฮโดรเจนในเม็ดแก้วสอดคล้องกับงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า ในเม็ดแก้วบนพื้นผิวดวงจันทร์ มีน้ำปริมาณมหาศาลนับล้านตันซ่อนอยู่คำพูดจาก เว็บสล็อตเว็บตรง
นักวิจัยจากหลายสถาบันในจีน รวมถึงมหาวิทยาลัยหนานจิงและสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบว่า อนุภาคของเม็ดแก้วเหล่านี้ มีโมเลกุลของน้ำรวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าการที่เม็ดแก้วมีน้ำบรรจุอยู่ภายในได้นั้น เกิดจากเม็ดแก้วบนดวงจันทร์เจอกับลมสุริยะ ซึ่งพัดพาไฮโดรเจนและออกซิเจนจากชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ไปทั่วระบบสุริยะ
มีการประเมินว่า หากบนดวงจันทร์มีน้ำอยู่ในปริมาณที่เพียงพอ ก็อาจเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญสำหรับแผนการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถนำน้ำไปแยกโมเลกุลได้ด้วย โดยไฮโดรเจนใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิง ส่วนออกซิเจนก็นำมาใช้ในการหายใจ เพื่อสนับสนุนภารกิจเดินทางต่อไปยังดาวอังคารหรือการขุดค้นทรัพยากรบนดวงจันทร์
ทั้งนี้ สนธิสัญญาอวกาศแห่งสหประชาชาติปี 1967 ห้ามมิให้ประเทศใดอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของดวงจันทร์ แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนดวงจันทร์
อย่างไรก็ดี ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและร่องลึก ทำให้ยากต่อการลงจอด และเป็นโจทย์ท้าทายต่อเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศ ซึ่งหากประเทศใดทำสำเร็จ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะมีความได้เปรียบในการสำรวจและเข้าถึงทรัพยากรอันมีค่าบนดวงจันทร์ก่อนใคร
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก YASSER AL-ZAYYAT / AFP